สภาการศึกษา เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) แผนปฏิบัติการส่งเสริมคุณธรรมฯ สร้างไทยสู่สังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรม

วันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 นายวรพจน์ สิงหราช ผอ.สพม.สมุทรปราการ มอบหมายให้ว่าที่ร้อยตรีสรวิชญ์ รางเงิน รอง ผอ.สพม.สมุทรปราการ ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) แผนปฏิบัติการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม จิตอาสาและสำนึกสาธารณะโดยมี นายธนู ขวัญเดช รองเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานเปิดการ พร้อมด้วย รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผอ.ศูนย์คุณธรรม ผศ.ดร.สืบวงศ์ กาฬวงศ์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ตัวแทนครูและผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ ห้องบงกชรัตน์ บี โรงแรมรอยัล ริเวอร์ กรุงเทพมหานครที่ประชุมร่วมรับฟังการบรรยายพิเศษ “สถานการณ์คุณธรรมในประเทศไทย” โดย รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรมและรองประธานคณะอนุกรรมการสภาการศึกษา ด้านคุณธรรมจริยธรรม จิตอาสาและสำนึกสาธารณะ กล่าวว่า เรากำลังจะสร้าง ‘คน’ ให้เป็น ‘หุ่นยนต์’ ที่แพ้หุ่นยนต์ รวมถึง OpenAI อย่าง ChatGPT ที่เข้ามามีบทบาทและในการเรียน ช่วยในการทำการบ้าน เพราะฉะนั้นควรให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้แบบเน้นกระบวนการมากกว่าการเน้นผลลัพธ์แบบเดิม จากรายงานสถานการณ์คุณธรรมในสังคมไทยของคนใน 3 ช่วงอายุ ได้แก่ อายุ 13 – 24 ปี – พบว่า 1.ไม่กล้าแจ้งตำรวจ เมื่อรู้ว่าเพื่อนทำผิดกฎหมาย เพราะไม่ใช่เรื่องของตน และ 2.หลีกเลี่ยงเป็นอาสาสมัครของสถานศึกษาหรือชุมชนเพราะไม่เกิด ภาพรวมอยู่ในระดับน่าเป็นห่วงในทุกด้าน อายุ 25 – 40 ปี – พบว่า 1.ตัดสินใจหรือแก้ปัญหาโดยใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล 2.ยอมลงมือทำแม้จะขัดกับกฎกติกาสังคม เพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จ 3.โต้แย้งทันทีเมื่อมีความคิดเห็นต่างจากผู้อื่น 4.เลือกทำงานกับคนที่ให้ผลประโยชน์กับตน และไม่กล้าร้องเรียนเรื่องทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐเพราะกลัวผลกระทบอายุ 41 ปีขึ้นไป – พบว่า 1.ทุ่มเทเวลาให้กับงานมากกว่าการดูแลตนเองและครอบครัว 2.ไม่พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ดังนั้นเราจึงมุ่งสร้าง “คุณธรรม” ที่ทุกคนทำได้ สัมผัสได้ วัดได้ จับต้องได้ กินได้ และเน้นส่งเสริมในเชิงพื้นที่
ต่อมาที่ประชุมร่วมรับฟังการนำเสนอ (ร่าง) แผนปฏิบัติการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม จิตอาสาและสำนึกสาธารณะ โดย ผศ.ดร.สืบวงศ์ กาฬวงศ์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร กล่าวว่า ร่างแผนปฏิบัติฯ มีกรอบแนวคิดในการจัดทำ คือ 1) ส่งเสริมคุณธรรมด้วยจิตวิทยาเชิงบวก เพื่อให้คุณธรรมเป็นคุณลักษณะที่ระเบิดจากภายใน 2) ส่งเสริมนิเวศคุณธรรมในระดับต่างๆ ได้แก่ บุคคล องค์กร สังคม ให้เป็นพื้นที่บ่มเพาะคุณธรรมและเติบโต 3) ทำงานเป็นเครือข่ายร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อสร้าง Know-How และเสริมภารกิจคุณธรรม โดยที่มุ่งหวังให้เกิดผลลัพธ์ที่สอดคล้องกับผลลัพธ์คุณธรรมที่สังคม หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องการ คือ 1) คุณธรรมเป็นพฤติกรรมจับต้องได้ 2) ทำดีเพราะเกิดจากใจ และ 3) ทำดีอย่างเป็นกิจวัตร นอกจากนี้ยังมุ่งหวังการต่อยอดให้คุณธรรมเป็นหนึ่งในคุณสมบัติประกอบการพิจารณาศึกษา เป็นต้น